พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้กระทรวงเกษตราธิการจัดการออกโฉนดที่ดินครั้งแรกที่เมืองกรุงเก่า (ปัจจุบันคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) โดยโฉนดที่ดินฉบับแรกออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2444 (รัตนโกสินทร์ศก 120) และได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมที่ดินขึ้นเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2444
(รัตนโกสินทร์ ศก 120) ได้มีการย้ายสังกัดและเรียกชื่อต่างๆ กัน ดังนี้
ชื่อ | สังกัด | เมื่อวันที่ |
กรมทะเบียนที่ดิน | กระทรวงเกษตราธิการ | 17 กุมภาพันธ์ 2444 |
กรมที่ดิน | กระทรวงมหาดไทย | 29 กุมภาพันธ์ 2475 |
กรมที่ดินและโลหะกิจ | กระทรวงมหาดไทย | 30 กรกฎาคม 2475 |
กรมที่ดินและโลหะกิจ | กระทรวงเศรษฐการ | 12 เมษายน 2476 |
กรมที่ดินและโลหะกิจ | กระทรวงเกษตราธิการ | 1 เมษายน 2478 |
กรมที่ดิน | กระทรวงมหาดไทย | 19 สิงหาคม 2484 |
ตราประจำกรมที่ดิน
นับแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “กรมทะเบียนที่ดิน” ขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการสำหรับกระทำการทะเบียนที่ดินในพระราชอาณาเขต เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) และต่อมาได้มีการย้ายสังกัดกระทรวงหลายกระทรวงจนสุดท้ายได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมที่ดิน“มา สังกัดกระทรวงมหาดไทยในปัจจุบันนี้
ตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดินเดิมเป็นตราประจำชาติรูปกลมศูนย์กลางกว้าง ประมาณ ๕.๑ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปมนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแสมีลายกนก และที่ริมขอบด้านบนมีตัวอักษรคำว่า “อธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน กระทรวงเกษตราธิการ”
ตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน กระทรวงเกษตราธิราช (เดิม)
ตรานี้ใช้ประทับในตราจองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติออกโฉนดที่ดิน (ฉบับที่ ๖) พุทธศักราช ๒๔๗๙ มาตรา ๘ (ข) ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานที่ดิน และใช้ประทับตราในหนังสืออนุญาตตามความในพระราชบัญญัติที่ดินในส่วนที่ เกี่ยวกับคนต่างด้าว พุทธศักราช ๒๔๘๖ ในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ นอกจากใช้ประทับเอกสารตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ยังใช้ประทับในเอกสารหลักฐานอื่นที่มีความสำคัญ เช่น หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เป็นต้น
นอกจากนั้น “อธิบดีกรมทะเบียนที่ดิน” เมื่อมีความจำเป็นจะต้องเข้าประจำทำนิติกรรมสัญญาโอนแก้ทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินจังหวัดใด ก็มีอำนาจใช้ตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนั้นๆ ประทับตราได้ด้วย ทั้งนี้ตามกฎเสนาบดีที่ได้ออกโดยได้รับพระบรมราชานุญาต ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๗
ในปีพุทธศักราช๒๕๐๐ เป็นปีที่นายถวิล สุนทรศารทูล ได้มีแนวความคิดที่จะปรับปรุงตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน และตราประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม และออกโฉนดที่ดินเพื่อความเหมาะสมและสะดวกในการใช้กับเพื่อให้ความหมาย ของดวงตรามีส่วนสัมพันธ์กับกระทรวงเจ้าสังกัดและขอบเขตธุรกิจหรืองานใน หน้าที่ของกรมที่ดินที่ได้ขยายออกไปกว้างขวางตามนัยแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ นอกจากงานสำรวจรังวัดทำทะเบียนที่ดินเพื่อการออกหนังสือสำคัญให้แก่ผู้มี สิทธิ์ในที่ดินแล้วยังต้องควบคุมดูแลรักษาที่ดินของรัฐและจัดสรรที่ดินให้ แก่ประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลการจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับที่ดินและงาน ที่ดินอื่น ๆ อีกด้วย จึงได้เสนอกระทรวงมหาดไทยเลือกดวงตรา ดังนี้ใช้ประจำตำแหน่งราชการ คือ
- ตราประจำตำแหน่ง “เจ้าพนักงานที่ดิน”
ลักษณะของดวงตรา: เป็นรูปกลม ศูนย์กลางกว้าง ๕ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปราชสีห์เครื่องหมายกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วยรูปพิทยาธรดำเนินมือขวาถือพระขรรค์มือซ้ายถือดอกบัวเครื่องหมาย ของจังหวัดอยู่เบื้องบนมีลายกนกเป็นลายล้อม (ทุกจังหวัดมีขนาดรูปลักษณะลวดลายเหมือนกันต่างกันแค่เครื่องหมายประจำ จังหวัด) - ตราประจำตำแหน่ง “อธิบดีกรมที่ดิน”
ลักษณะของดวงตรา: เป็นรูปกลมศูนย์กว้าง ๖ เซนติเมตร ลายกลางเป็นรูปราชสีห์เครื่องหมายกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วยรูปพิทยาธรดำเนินมือซ้ายถือพระขรรค์มือขวาถือดอกบัว และรูปมนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแสหันหน้าเข้าหากันมีลายต้นไม้เป็นลายล้อม
ในช่วงเวลาของการออกแบบรูปตราประจำตำแหน่งของเจ้าพนักงานที่ดินและตราประจำ ตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน ตามที่จะขอปรับปรุงใหม่นั้น กรมที่ดินได้ขอให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากกรมที่ดินให้เป็นผู้ประสานงานกับกรมศิลปากร คือ นายเสงี่ยม คงตระกูล หัวหน้ากองทะเบียนที่ดินสมัยนั้น
ผลการเสนอขอปรับปรุงตราประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินและตราประจำตำแหน่ง อธิบดีกรมที่ดินในครั้งนี้ปรากฎว่า กรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารได้มีหนังสือ ที่ มท ๔๕๗๕/๒๕๐๑ (บ.ร. ๑) ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๑ แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยทราบว่า “กรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาแล้วโปรด เกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราประจำตำแหน่งอธิบดีได้เพียงดวงเดียว ส่วนตราประจำตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดต่างๆ นั้น ให้กระทรวงมหาดไทยเสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ขึ้นไปใหม่เป็นราย จังหวัดต่อไป”
ตราประจำตำแหน่ง “อธิบดีกรมที่ดิน” ที่ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อปี ๒๕๐๑ นี้ มีรูปลักษณะเป็นตราประจำชาติศูนย์กลางกว้าง ๖ เซนติเมตร มีรูปกลมลายกลางเบื้องบนเป็นรูปราชสีห์ยืนอยู่บนลายกนก ประกอบด้วยรูปพิทยาธรดำเนินมือขวาถือดอกบัวมือซ้ายถือพระขรรค์กับมีรูป มนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแสหันหน้าเข้าหากันอยู่เบื้องล่างมีเครือเถาเป็นลาย ล้อม
ตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบัน)
กรมที่ดินได้ใช้ภาพตราประจำตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดินที่ได้รับพระบรมราชานุญาต ตามหนังสือกรมสารบรรณ คณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ มท.๔๕๗๕/๒๕๐๑ (บ.ร.๑) ลงวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๑ เป็นเครื่องหมายประจำกรม ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นต้นมา
ความหมายของตราประจำกรมที่ดิน (The definition of Department of Lands Badge)
- รูปราชสีห์ (King of beast badge): เป็นเครื่องหมายกระทรวงมหาดไทยมีความหมายว่ากรมที่ดินเป็นหน่วยงานที่สังกัด อยู่ในกระทรวงมหาดไทย is sign of Ministry of Interior. It means “Department of Lands belongs to Ministry of Interior.”
- รูปพิทยาธรดำเนิน (angel musician in walking posture): มือซ้ายถือพระขรรค์มือขวาถือดอกบัวมีความหมายไปในทางจัดสรรที่ดิน her left hand holds a sharp sword; her right hand holds a lotus. It means “land allocation aspect.”
- รูปมนุษย์มือซ้ายถือเส้นกระแส (a man; his left hand holds a stream line): หันหน้าเข้าหากันมีความหมายไปในทางจดทะเบียนสำหรับทำนิติกรรมสัญญา face to face means “registration of rights and juristic acts aspect”
*อ้างอิงจาก หนังสือวิวัฒนาการการออกโฉนดที่ดินและงานทะเบียนที่ดิน 100 ปี กรมที่ดิน 17 กุมภาพันธ์ 2544 โดยนายวิโรจน์ ผิวปานแก้ว พิมพ์ที่ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. 2543
แหล่งข้อมูล ::
- กรมที่ดิน (http://www.dol.go.th)
- Wiki pedia (https://th.wikipedia.org/wiki/กรมที่ดิน)
One thought on “กรมทะเบียนที่ดิน หรือ กรมที่ดิน ในปัจจุบัน”
การแสดงความเห็นถูกปิด